ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า ซึ่งมีการระบาดเป็นช่วงๆ ในฤดูฝนและฤดูหนาว เป็นเชื้อที่มีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้
การแพร่เชื้อติดต่อ เบื้องต้นสามารถสังเกตได้ ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ การแพร่เชื้อติดต่อ แพร่กระจายโดยการสัมผัสละอองฝอยจากการไอ และการจามของผู้ป่วย เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย โดยบางรายอาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1 - 4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด อาการจะมีไข้สูงเฉียบพลัน เช่น ตอนเช้ายังมีอาการปกติ พอตกบ่ายมีอาการ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อตามตัวและกล้ามเนื้อมาก น้ำมูกใส คัดจมูก เจ็บคอ ไอแห้ง ท้องเสียและอาเจียน หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
อาการโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการที่คล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการรุนแรงมากกว่า และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนทั่ว ๆ ไปของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้มาก ได้แก่ โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม ดังนั้นไข้หวัดใหญ่จึงไม่ใช่แค่อาการ เจ็บป่วยเล็กน้อยที่ทุกคนจะรอให้หายเองได้ หากแต่ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการของตนเองและควรรีบพบแพทย์ ซึ่งโรคนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงและเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วย ที่มีโรคปอดหรือถุงลมโป่งพองอยู่แล้ว จะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 100 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้มีโรคเรื้อรัง บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และสตรีมีครรภ์ ที่สำคัญ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มาเยือนเราได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน การออกไปพบปะผู้คนนอกบ้าน หรืออยู่ตามสถานที่แออัด มักเป็นสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อ ซึ่งบางทีเราก็หลีกเลี่ยงได้ยาก ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้แบบนี้ เราจะต้องดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่และรับเชื้อไข้หวัดใหญ่
การป้องกัน ทำได้ง่ายๆ ด้วยการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”
- ปิด ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ หรือจาม
- ล้าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
- เลี่ยง หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- หยุด เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข / 21 สิงหาคม 2567